เทคนิคนวัตกรรมในการผลิตผลไม้นอกฤดูเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ไม้ผลนอกฤดูกาล คำๆ นี้ในปัจจุบันเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่นักวิชาการเกษตร เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการประสบผลสำเร็จในการทำให้ไม้ผลบางชนิดสามารถออกดอกนอกฤดูได้นั่นเอง จากความสำเร็จดังกล่าวก็ได้สร้างความสนใจให้กับบุคคลในวงการเกษตรกันมากจนถึงกับได้มีการศึกษาและทดลองกันอย่างกว้างขวางกับไม้ผลชนิดอื่น และก็มีแนวโน้มว่าสามารถที่จะบังคับใช้ไม้ผลบางชนิดออกดอกนอกฤดูได้เช่นเดียวกัน

การบังคับหรือกระตุ้นหรือชักนำเพื่อให้ไม้ผลออกดอกนอกฤดูนั้น หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นได้ว่า วิธีการต่าง ๆ ที่ใช้บังคับให้ไม้ผลออกดอกนั้นมีการปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว โดยในสมัยก่อนวิธีการเหล่านั้นอาจจะค้นพบโดยบังเอิญหรือไม่ได้ตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น การทรมานต้นไม้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสับกิ่ง สับต้น การตอกตะปูที่ต้น การรมควัน การตอนกิ่ง รัดกิ่ง หรือแม้กระทั่งการที่ต้นไม้ขาดน้ำเป็นต้น และเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั่ว ๆไป เมื่อรู้ตัวว่าใกล้จะตาย เช่น ถูกทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก็มีการแตกดอกออกผลขึ้นมา มนุษย์ก็ได้ก็ได้สังเกตและรู้หลักการอันนี้จึงได้มีการบังคับให้ไม้ผลออกดอกด้วยวิธีการดังกล่าว ปัจจุบันนี้วิทยาการในการบังคับเพื่อให้ไม้ผลออกดอกนอกฤดูกาลได้ก้าวหน้าไปมาก มีการใช้สารเคมีบางชนิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ บังคับให้ไม้ผลออกดอกนอกฤดูกาลได้แน่นอนขึ้นและกระทำได้อย่างกว้างขวางกับไม้ผลหลายชนิด

อย่างไรก็ตาม การผลิตไม้ผลนอกฤดูกาลก็ยังเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง กล่าวคือ แม้ว่าในขณะนี้เราสามารถผลิตไม้ผลนอกฤดูขึ้นได้ในพืชหลายชนิดและนั่นก็ไม่ใช่ว่าจะกระทำได้อย่างแน่นอนหรือกระทำได้ทั่ว ๆ ไปในทุกสภาพท้องที่แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายชนิดอาทิเช่น พันธุ์ ความสมบูรณ์ของต้น สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเทคนิคและวิธีปฏิบัติของแต่ละคน ในบางครั้งถึงแม้จะมีปัจจัยเหล่านี้อยู่อย่างครบถ้วนแล้วก็ตามการผลิตไม้ผลนอกฤดูกาลก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จเต็มที่เสมอไป

แนวทางการผลิตผลไม้นอกฤดูมีวิธีการต่างๆ หลายวิธีดังนี้
1. ใช้พันธุ์ที่ออกดอกนอกฤดูอยู่แล้ว เช่น มะม่วงพันธุ์ทะวายต่างๆ น้ำดอกไม้ทะวาย พิมเสนมันทะวาย โชคอนันต์ เป็นต้น
2. เลือกช่วงเวลาการปลูกให้ไม่ตรงกับคนอื่น ใช้กับไม้ผลที่มีอายุสั้นเมื่อถึงอายุก็ออกดอกติดผล เช่น กล้วย มะละกอ ปกติต้องอาศัยน้ำฝนจะปลูกต้นฤดูฝน หากมีน้ำชลประทานควรเลือกปลูกช่วงปลายฤดูฝนหรือฤดูแล้งจะทำให้มีผลผลิตจำหน่ายไม่ตรงกับเขตอื่น
3. ใช้การตัดแต่งกิ่ง ทำกับไม้ผลที่เมื่อแตกกิ่งใหม่จะมีช่อดอกออกมาด้วย เช่น น้อยหน่า ฝรั่ง องุ่น เป็นต้น
4. ใช้ปุ๋ยเคมี N.D.Bondad it af 1978 รายงานว่าโปแตสเซียมไนเตรทอัตราความเข้มข้น 1-4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มะม่วงพันธุ์คาราบาวแทงช่อดอกนอกฤดูกาลได้
5. การใช้สารชะลอการเจริญเติบโต เช่น พาโคลบิวทราโซล ใช้กับมะม่วงโดยฉีดพ่นทางใบ
อัตรา 1,000-2,000 ppm. ทำให้มะม่วงออกดอกก่อนกำหนด 35 วัน ในปัจจุบันนิยมราดทางดินชิดโคนต้นระยะเหมาะสมของต้นที่จะใช้ต้องมีใบสีเขียวอ่อน ปริมาณสารต่อต้นเท่ากับความกว้างทรงพุ่มเป็นเมตรคูณด้วยค่าคงที่ของพันธุ์ คือ พันธุ์ออกง่ายให้ค่าคงที่เท่ากับ 10 ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น ทองดำ หนองแซง เจ้าคุณทิพย์ แก้วลืมรัง ลิ้นงูเห่า โชคอนันต์ ส่วนพันธุ์ที่ออกยากให้ค่าคงที่ของพันธุ์ออกยาก เท่ากับ 15 ได้แก่ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย หนังกลางวัน อกร่อง แรด และพิมเสนมัน