การนำผักและผลไม้มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร

ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้และผักนานาชนิด และมีให้บริโภคกันอยู่ตลอดปี ผลไม้ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สับปะรด ฝรั่ง กระท้อน มะม่วง องุ่น ส้มโอ กล้วย ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด เงาะ พุทรา ส้ม มะนาว ทุเรียน ขนุน มะละกอ มะกอกน้ำ สมอ และสตรอเบอรี่ ผลไม้เหล่านี้จะมีระยะเวลาออกสู่ตลาดสับเปลี่ยนตลอดปี ซึ่งปริมาณการผลิตในแต่ละปีนั้นไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ฟ้า อากาศ ผลผลิตส่วนมากจะนิยมบริโภคสด และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเกือบทั้งหมด ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักและผลไม้ที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และส่งผลให้ผู้บริโภคเปิดรับผักและผลไม้แปรรูปในฐานะขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น

การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปจะช่วยป้องกันการล้นตลาดของผลิตผลสด ซึ่งช่วยยกระดับราคาผลิตผลไม่ให้ตกต่ำ การเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารระดับอุตสาหกรรมที่สามารถรับวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารจำนวนมากได้ การผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารให้เป็นที่ยอมรับและสามารถขยายตลาดการค้าออกไปสู่ต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเป็นการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการต่างๆเพื่อให้เก็บรักษาผลผลิตทางเกษตรไว้ได้นานก่อนถึงตลาดและผู้ซื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ สภาพของผลผลิตความสะอาด ความชื้น อุณหภูมิ การถ่ายเทอากาศ

จากกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก และเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ประกอบการในการเข้ามาในธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้าขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากผักและผลไม้ ที่มีจุดเด่นคือเป็นขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถทานได้ทุกที่ทุกเวลา น่าจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต สร้างเครือข่ายธุรกิจและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีศักยภาพ